//วิธีเลือกประแจปอนด์ขันแฟร์นัท งานติดตั้งแอร์ และวิธีใช้งาน

วิธีเลือกประแจปอนด์ขันแฟร์นัท งานติดตั้งแอร์ และวิธีใช้งาน

ประแจปอนด์สำหรับขันแฟร์นัทงานติดตั้งแอร์นั้น จะต่างจากประแจปอนด์ที่ใช้งานในอู่ซ่อมรถทั่วไป เนื่องจากงานขันแฟร์นัทท่อทองแดง จะมีเรื่องพื้นที่หน้างานที่ติดตั้ง และระยะห่างจากกำแพง ทำให้ประแจปอนด์แบบปกติที่มีในส่วนของด้ามที่เอาไว้หมุนปรับตั้งค่าจะมีความยาวมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน

ความต่างระหว่าง ประแจปอนด์ทั่วไป กับ ประแจปอนด์งานแอร์

1.ประแจปอนด์งานแอร์ จะตัดในส่วนของกลไกการหมุนตั้งค่าทอร์ค ,ระบบ lock/ unlock ออก และเซ็ทค่าทอร์คที่เหมาะสมสำหรับการขันแฟร์นัทท่อ ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเอาไว้ตายตัวแล้ว (สามารถหยิบประแจมาขันได้เลย โดยไม่ต้องหมุนตั้งค่า) เนื่องจากการตัดส่วนการปรับตั้งค่าและ lock/unlock ออก ทำให้ตัวประแจนั้น “สั้น” ใช้งานได้ดีในพื้นที่แคบ

2.หัวปากตายที่พอดีกับหัวแฟร์นัท และค่าทอร์คที่ถูกเซ็ตค่ามาจากโรงงาน ทำให้โอกาสผิดพลาดในการติดตั้งแฟร์นัทน้อยมาก ไม่ต้องตั้งค่าเอง ใครมาหมุนเล่นไม่ได้ และเนื่องจากไม่มีการหมุนตั้งค่า หรือเปลี่ยนค่าทอร์คเลย ทำให้ประแจมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าประแจปอนด์ที่หมุนเปลี่ยนค่าบ่อยๆ โอกาสเสียน้อย (นอกเสียจากเป็นไปตามอายุการใช้งานของสปริงแรงบิดด้านในของประแจ)

 

 

ประแจปอนด์ช่างแอร์

ประแจปอนด์งานแอร์มีกี่ขนาด ?

ประแจปอนด์สำหรับงานขันแฟร์นัท ส่วนมากจะใช้ขันแฟร์นัท ท่อทองแดงตั้งแต่ขนาด 1/4″ ,3/8″ ,1/2″ และ 5/8″ ( 2,3,4,5 หุน) วัดจากความโตของท่อ โดยขนาดของหัวปากตายที่ใช้สำหรับขันท่อไซส์ต่างๆจะเป็นดังนี้

  • แฟร์นัท 1/4″ (2หุน) หัวประแจขนาด 17mm
  • แฟร์นัท 3/8″ (3หุน) หัวประแจขนาด 22mm
  • แฟร์นัท 1/2″ (4หุน) จะมีทั้ง แฟร์นัทหัวเล็ก และหัวใหญ่ คือ 24mm และ 26mm แบ่งตามน้ำยาแอร์ที่ใช้
  • แฟร์นัท 5/8″ (5หุน) จะมีทั้ง แฟร์นัทหัวเล็ก และหัวใหญ่ คือ 27mm และ 29mm แบ่งตามน้ำยาแอร์ที่ใช้ เช่นกัน

 

ประแจช่างแอร์

ค่าทอร์คในการขันแฟร์นัท แต่ละไซส์ ค่าทอร์คเท่าไร ?

  • ค่าทอร์คในการขันแฟร์นัท 1/4″ (2หุน) = 18NM.
  • ค่าทอร์คในการขันแฟร์นัท 3/8″ (3หุน) = 42NM.
  • ค่าทอร์คในการขันแฟร์นัท 1/2″ (4หุน) = 55NM. เท่ากันทั้งแฟร์แล็กและใหญ่
  • ค่าทอร์คในการขันแฟร์นัท 5/8″ (4หุน) = 65NM./75NM.

 

วิธีใช้ประแจปอนด์ช่างแอร์

ในส่วนของ วิธีใช้งานประแจปอนด์ช่างแอร์ นั้นง่ายมากๆครับ ถ้าใช้ประแจปากตายเป็นก็ใช้ได้แล้วครับผม แต่ข้อควรระวังในการใช้งานประแจปอนด์ขันติดตั้งแฟร์นัทนั้น มีอยู่ 4 ข้อครับ คือ

  1. ทอร์คจะทำงานในทิศทาง “ขันเข้า” เท่านั้น ซึ่งที่ตัวประแจปอนด์จะมีลูกศรบอกทิศทางการขันอยู่ ดังนั้นขันให้ถูกทาง ทอร์คถึงจะทำงานครับ จะมีเสียงลั่นของสปริงแรงบิดเมื่อขันถึงค่า
  2. ห้ามนำประแจปอนด์ไป “ขันน็อตออก” เด็ดขาด การนำประแจปอนด์ไปขันออก เป็นการฝืนธรรมชาติของกลไกด้านใน อาจทำให้ประแจขัดข้องได้
  3. ห้ามโยน วางแรงๆ ทุกกรณี ประแจปอนด์ จัดเป็นเครื่องมือวัดชนิดหนึ่ง ควรเก็บให้ดีและใช้งานอย่างระมัดระวัง
  4. เมื่อใช้งานมานานเป็นปี เริ่มรู้สึกว่าค่าทอร์คของประแจเริ่มเพี้ยน ให้ทำการส่งคาลิเบรทใหม่ เพื่อความแม่นยำในการใช้งาน

 

สรุปวิธีการเลือกซื้อประแจปอนด์ช่างแอร์

  • เลือกประแจปอนด์แบบที่ตั้งค่าทอร์คตายตัว เพื่อสะดวกในการใช้งานในพื้นที่แคบ
  • เลือกแบบที่เป็นหัวปากตาย เพราะแบบลูกบล็อกไม่สามารถนำไปขันงานท่อได้
  • เลือกหัวประแจให้ตรงกับขนาดแฟร์นัท 1/4″ ปากตาย 17mm , 3/8″ ปากตาย 22mm ,1/2″ ปากตาย 24,26mm , 5/8″ ปากตาย 27,29mm
  • Trick เล็กน้อยในการเลือกประแจปอนด์สำหรับแฟร์ 1/2″ กับ 5/8″ หากเราต้องการซื้อประแจตัวเดียว แต่อยากให้ใช้ได้กับทั้งแฟร์หัวเล็กและใหญ่ ให้เราเลือกเบอร์ใหญ่กว่าครับ เช่น แฟร์นัท 1/2″ ให้เลือกเบอร์ 26mm และ แฟร์นัท 5/8″ ให้เลือกเบอร์ 29mm ถึงเวลานำไปใช้งานถ้าเจอแฟร์หัวเล็ก ให้ใช้เหรียญ 10 บาท สอดเพิ่มเข้าไป จะขันได้พอดีเหมือนกัน เท่ากับซื้อตัวเดียว ใช้ขันได้ทั้ง 2 ขนาดครับ

 

By | 2023-02-20T14:16:39+00:00 May 26th, 2020|Uncategorized|0 Comments

About the Author:

Leave A Comment